3 วิธีเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจด้วย Location Intelligence

 

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอน องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ก็ต้องมองหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการเพิ่มผลผลิต หรือแม้แต่ฝ่ายการผลิตก็ต้องพิจารณานำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุง Supply chain ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น

หลายองค์กรพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีด้านภูมิศาสตร์คือกุญแจสำคัญในการผลักดันธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเทคโนโลยี GIS ในแผนที่อัจฉริยะ และ Dashboard ล้วนช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจมองเห็นภาพรวมสินทรัพย์และการดำเนินงานของบริษัทได้อย่างครอบคลุมรอบด้าน นอกจากนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลจากมุมมองเชิงพื้นที่ยังทำให้ตรวจพบความซ้ำซ้อนได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และสามารถระบุพื้นที่ที่สามารถติดตั้งเทคโนโลยี Automation หรือเซนเซอร์ IoT เพื่อเพิ่มการทำงานที่รวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนส่งผลดีในอนาคต ยืนยันโดยผลการวิจัยจากบริษัท McKinsey ที่ชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่ปรับตัวได้เร็วกว่าย่อมได้เปรียบคู่แข่งที่เชื่องช้า ไม่ว่าจะเป็นในด้านนวัตกรรม การเติบโต สุขภาพขององค์กร ผลการดำเนินงานทางการเงิน และความสามารถในการรับมือต่อสภาพวิกฤติ

ข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจที่ประมวลผลด้วยเทคโนโลยี GIS หรือที่เรียกว่า Location intelligence ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทได้ 3 วิธี ดังนี้

  • ลดการเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น
  • ช่วยวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ
  • ช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า

 

นอกจากนั้น ธุรกิจที่มีความคล่องตัวและมุ่งเน้นคุณค่านั้นยังทำให้โลกยั่งยืนกว่า เพราะเมื่อลดกระบวนการทำงานให้น้อยลง ย่อมลดการเกิดคาร์บอนฟุตปรินต์ และลดการใช้ทรัพยากร จึงกล่าวได้ว่าธุรกิจที่มีประสิทธิภาพก็คือธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม

 

การเพิ่มประสิทธิภาพวิธีที่ 1: ลดการเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น

ส่วนใหญ่แล้วการเคลื่อนที่ของพนักงานในแต่ละวันนั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น ฝ่ายเทคนิคที่มักเดินทางด้วยเส้นทางที่คุ้นชินแต่ไม่ใช่เส้นทางที่เร็วที่สุด หรือผู้จัดการฝ่ายประสานงานด้านการซ่อมบำรุงที่ยังคงใช้กระดาษวางแผนเส้นทางการเข้าเซอร์วิส อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการนำเทคโนโลยีด้านโลเคชันที่มีอัลกอริทึมมาใช้ในการประมวลผลเส้นทาง

สำหรับข้อมูลที่สัมพันธ์กับกิจกรรม เช่น การส่งสินค้า การเรียกเข้าเซอร์วิส และการบำรุงรักษาทั่วไปก็สามารถใช้ระบบ GIS เป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหนึ่งเดียวที่ใช้ร่วมกันได้ โดย Location intelligence จะช่วยผู้บริหารคำนวณเวลาการขับรถ จัดลำดับความสำคัญของแต่ละที่หมาย และแม้กระทั่งระหว่างนั่งอยู่ในรถก็มั่นใจได้ว่าพนักงานของคุณจะไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้เป็นอย่างดี

บริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพรายหนึ่งได้นำเทคโนโลยีด้านภูมิศาสตร์มาใช้เพื่อเชื่อมพยาบาลเวชปฏิบัติและผู้ช่วยพยาบาลเข้ากับผู้ป่วยที่ต้องการรับการเยี่ยมบ้าน ระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจจัดพยาบาลเยี่ยมบ้านถึงสองคนเข้าไปในที่เดียวกัน หรือจัดคิวนัดหมายในหนึ่งวันที่แน่นจนเกินไป แต่เมื่อปัจจุบันสามารถส่งข้อมูลเวลาการนัดหมายเข้าสู่ระบบ GIS ที่ใช้อัลกอริทึมในการจัดเส้นทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงช่วยให้นักวิเคราะห์เห็นการจัดการนัดหมายและเส้นทางที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจับคู่พยาบาลเยี่ยมบ้านที่เหมาะสมกับคนไข้ได้อีกด้วย

โดยสรุปในระยะเวลา 5 เดือน ข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์โลเคชันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานไปได้อีกขั้น ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก กล่าวคือลดระยะทางการขับรถได้มากถึง 2,000 ไมล์ และลดเวลาการขับรถไปมากถึง 45 ชั่วโมง

อีกตัวอย่างคือองค์กรสำรวจน้ำมันและก๊าซที่ประสบปัญหาการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ กล่าวคือบริษัทมักส่งฝ่ายเทคนิคเดินทางเพื่อเข้าตรวจเครื่องจักรตามไซต์งานต่าง ๆ เป็นประจำแม้ว่าเครื่องจักรไม่จำเป็นต้องซ่อมบำรุงก็ตาม ทำให้ช่างหนึ่งคนอาจไม่เจอปัญหาที่ไซต์งานหนึ่ง ในขณะที่ช่างอีกคนที่เดินทางแสนไกลอาจเจอปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขทันทีก็ได้

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาคือติดตั้งเซนเซอร์ IoT ที่เครื่องขุดเจาะน้ำมัน ถังเก็บน้ำมัน และเกจวัดความดัน แล้วดึงข้อมูลเซนเซอร์ใส่ลงในแผนที่อัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อดูภาพรวมสถานะของเครื่องจักรผ่านหน้าจอเดียว เพียงเท่านี้ผู้จัดการสินทรัพย์ภาคสนามก็สามารถรับรู้ข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรต่าง ๆ ในแบบเรียลไทม์ และช่างฝ่ายซ่อมบำรุงเองก็รับรู้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่นาที ต่างจากแต่ก่อนที่อาจต้องรอไปอีกหลายวันกว่าจะถึงเวลานัดซ่อมบำรุงตามรอบที่กำหนดไว้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังพาบริษัทก้าวสู่เป้าหมาย “Net zero” หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะการเข้าซ่อมบำรุงน้อยลงย่อมหมายถึงการใช้พลังงานน้อยลง ยานพาหนะสึกหรอน้อยลง และการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดน้อยลงด้วย

 

การเพิ่มประสิทธิภาพวิธีที่ 2: ช่วยวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ

ผู้นำในธุรกิจ Fortune 500 ต่างชี้ว่าแผนที่อัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งในด้านทำงานร่วมกัน การสื่อสาร และการจัดการโครงการ โดยช่วยแก้ปัญหาการเก็บข้อมูลที่กระจัดกระจาย และการสื่อสารที่ไม่ลื่นไหลระหว่างหน่วยงาน

หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือองค์กรประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่งที่เผชิญปัญหาการจัดการข้อมูลที่ยังคงล้าหลัง ที่ฝ่ายสำรวจยังคงทำการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์และพันธุ์พืชในพื้นที่ห่างไกลลงบนกระดาษ แล้วส่งเอกสารทางไปรษณีย์ไปที่สำนักงานใหญ่ รอจนกว่าจดหมายจะมาถึงจึงบันทึกลงในคอมพิวเตอร์และทำการวิเคราะห์ ซึ่งอาจเสียเวลาถึง 5 วันในการเก็บและแปลข้อมูล ส่งกระทบต่อการส่งงานที่ล่าช้าในท้ายที่สุด

แต่ปัจจุบันเมื่อนำเทคโนโลยีด้านโลเคชันมาใช้จึงช่วยแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้เมื่อนักชีววิทยาออกไปเก็บข้อมูลพันธุ์ไม้และสัตว์ต่าง ๆ สามารถใช้เครื่องมือที่มีแอปพลิเคชัน GIS บันทึกจุดที่พบเห็นและตำแหน่งของมันได้ทันที ทั้งหัวหน้างานก็สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าทีมสำรวจอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ ในขณะเดียวกันผู้บริหารก็สามารถเข้าไปดูการค้นพบล่าสุดได้แบบเรียลไทม์ซึ่งอยู่บนแผนที่ที่เข้าใจง่ายและโต้ตอบได้ ท้ายที่สุดการทำงานจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นและการส่งงานก็ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อีกตัวอย่างคือบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง ใช้เทคโนโลยีด้านโลเคชันเพื่อให้ทีมงานทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ผ่านการใช้ข้อมูลที่แสดงตำแหน่งด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ท่อน้ำ เครื่องสูบ และข้อมูลอื่น ๆ ของแต่ละสินทรัพย์ เช่น ลักษณะเฉพาะ การปฏิบัติงาน และประวัติการซ่อมบำรุง

เมื่อก่อนข้อมูลเหล่านี้แยกเก็บแต่ละแผนก ซึ่งเสียเวลาอย่างมากเมื่อจำเป็นต้องแชร์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกข้อมูล การแปลงข้อมูล ไปจนกระทั่งดาวน์โหลดข้อมูล แต่เมื่อบริษัทนำแพลตฟอร์ม GIS มาใช้ซึ่งช่วยให้ทีมงานหลาย ๆ ทีมเข้าใช้ Location data ร่วมกันได้ ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมงานได้มากขึ้นถึง 8 เปอร์เซนต์

 

การเพิ่มประสิทธิภาพวิธีที่ 3: ช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า

อีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญหากองค์กรต้องการเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน นั่นก็คือกระบวนการการตัดสินใจ บ่อยครั้งที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ได้รับข้อมูลครบรอบด้านมากพอ ทำให้ต้องขอข้อมูลเพิ่มส่งผลให้กระบวนการทำงานล่าช้า การนำเทคโนโลยีด้านภูมิศาสตร์มาใช้จึงช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี โดยช่วยให้ผู้บริหารได้รับทราบข้อมูลและผลการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับโลเคชันในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและโต้ตอบได้

หนึ่งในตัวอย่างคือภาครัฐของประเทศสวีเดนซึ่งรับผิดชอบด้านการกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจได้ใช้เทคโนโลยี GIS ในการสร้าง “Digital dossiers” แฟ้มเอกสารแบบดิจิทัลในรูปแบบแผนที่อัจฉริยะที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจในประเทศสวีเดนสำหรับแชร์ให้กับผู้บริหารจากประเทศต่าง ๆ ที่สนใจลงทุน การเปลี่ยนกระบวนการจากกระดาษสู่เทคโนโลยีด้านโลเคชันนี้ ทำให้ภาครัฐสามารถส่งข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้นจึงดึงดูดการลงทุนทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น การวิเคราะห์ Location data ได้อย่างรวดเร็วยังช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจความสัมพันธ์ของการเคลมประกันที่เพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ข้อมูลเชิงลึกเช่นนี้มีส่วนช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจโดยไม่จำเป็นต้องคาดเดาอีกต่อไป

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริหารระดับ CEO และ COO ต่างเผชิญปัญหาที่เหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการหาหนทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร การที่ผู้บริหารนำเทคโนโลยีด้านภูมิศาสตร์และ GIS มาใช้จึงเป็นเครื่องมือที่ชาญฉลาดเพื่อรับรู้การดำเนินงานได้อย่างแม่นยำในแบบเรียลไทม์ และนำไปใช้เพื่อตัดสินใจกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็น ไปพร้อมกับเพิ่มความแข็งแกร่งให้การทำงานให้พร้อมสู้ในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

 

 

Tags: