เปลี่ยนการก่อสร้างให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้นด้วยระบบ Operational Intelligence

สืบเนื่องจากเรื่องขยะในทะเลหรือในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น การลดจำนวนขยะจึงกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารที่มุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน ในบทความนี้จะพาเราไปพบกับแนวทางในการจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจของผู้นำอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตขยะมากที่สุดผ่านระบบวิเคราะห์การปฏิบัติงานอัจฉริยะ (Operational intelligence)

ข้อมูลจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐรายงานว่าขยะที่มาจากการก่อสร้างในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีมากกว่า 600 ล้านตันต่อปี ประกอบไปด้วยคอนกรีต กระจก และไม้ ซึ่งการจะมุ่งสู่ความยั่งยืนได้นั้นแน่นอนว่าจำเป็นต้องลดปริมาณการทิ้งขยะเหล่านี้ ทั้งแผนการกำจัดขยะที่ชัดเจนยังเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญขององค์กรในการได้ใบรับรองต่าง ๆ เช่น LEED, BREEAM, และ B Corp

การนำเทคโนโลยีอัจฉริยะที่สามารถเพิ่มความเร็วในการเก็บข้อมูล เพิ่มความแม่นยำในการรายงาน และทำให้เกิดระบบ Operational intelligence ได้นั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับองค์กรด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และก่อสร้าง (AEC) ที่มุ่งมั่นในการลดขยะอย่างแท้จริง และหนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยี GIS ที่ช่วยให้องค์กรทราบถึงที่มาของขยะ และสถานที่ที่ควรนำขยะไปจัดการเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

หากบริษัทด้านการก่อสร้างนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ร่วมกันทั้งโมบายแอปพลิเคชัน แผนที่ดิจิทัล โดรน และ Dashboard ย่อมช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับขยะมองเห็นภูมิศาสตร์รอบด้าน และนำไปสู่แนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่เป็นผลมากขึ้น

 

เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มความสามารถระบบ Operational Intelligence ของไซต์ก่อสร้าง

วัสดุก่อสร้างเกือบทั้งหมดแท้จริงแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ เช่น เศษไม้สามารถแปลงเป็นกระดาษแข็ง เศษกรวดและซีเมนต์สามารถบดและนำมาแปลงเป็นมวลรวมคอนกรีต หรือเศษกระจก พลาสติก และโลหะ ก็สามารถหลอมและฟอร์มตัวกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เมื่อนำระบบ Operational intelligence มาใช้อย่างถูกต้อง ยิ่งช่วยให้บริษัทก่อสร้างเห็นโอกาสในการชุบชีวิตขยะเหล่านี้อีกครั้ง และยังสามารถหาวิธีลดปริมาณวัสดุสิ้นเปลือง หรือเปลี่ยนไปเลือกใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

วัสดุหลาย ๆ อย่างในไซต์ก่อสร้างจำเป็นต้องแยกอย่างละเอียด แต่ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะการรีไซเคิลมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำวัสดุเหล่านั้นไปฝังกลบ ยิ่งไปกว่านั้นการติดตามและแยกขยะยังช่วยในการบริหารด้านซัพพลายเชน เพราะผู้บริหารรู้ได้ว่าวัสดุไหนซื้อมากเกินไป และคิดหาวิธีนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ หรือลดปริมาณการสั่งซื้อลง

การใช้แอปพลิเคชันเก็บข้อมูลที่ผสานเทคโนโลยีด้านโลเคชันช่วยให้การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับขยะ และการดำเนินการตามมาตรการจัดการขยะเป็นเรื่องง่าย เพราะทำให้เจ้าหน้าที่ที่ไซต์ก่อสร้างสามารถบันทึกรายละเอียดของขยะ ระบุประเภท และปริมาณผ่านมือถือหรือแท็บเล็ต ทั้งยังสามารถเพิ่มรูปภาพเข้าไปในระบบเพื่อให้เห็นว่าขยะนั้น ๆ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้หรือไม่ รวมทั้งแผนที่ภายในแอปก็ช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการแยกหรือเคลื่อนย้ายขยะสามารถระบุลงไปได้ว่าขยะอยู่ที่ไหน และวัสดุบางประเภทควรจัดเก็บไว้ที่ไหน

ระบบ Operational intelligence เพิ่มเติมอื่น ๆ  อาจมาจากการใช้โดรน เทคโนโลยี AI และการวางแผนการบินและการวิเคราะห์ภาพโดยใช้เทคโนโลยี GIS อย่างเช่น การใช้โดรนบินเหนือไซต์ก่อสร้างหรือไซต์ที่ถูกรื้อถอนเพื่อบันทึกข้อมูลสถานการณ์ที่สำคัญต่าง ๆ และระบุประเภทของขยะจากทางไกลผ่านรูปภาพซึ่งมาจากอัลกอริธึมของ Machine learning ที่สามารถสแกนรูปภาพจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็วไปพร้อมกับการระบุประเภทของขยะต่าง ๆ เหล่านั้น โดรนยังมีความสำคัญอย่างมากในไซต์งานที่มีความอันตรายเพราะสามารถบอกได้ว่าขยะสามารถกู้คืนได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าใกล้วัสดุอันตรายเหล่านั้น หรือเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย

 

เห็นภาพรวมเดียวกันเพื่อการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้น

การเก็บข้อมูลดิจิทัลนอกจากจะสร้างประสิทธิภาพในสถานที่ทำงานแล้ว ยังทำให้ข้อมูลที่แม่นยำส่งถึงมือผู้มีอำนาจตัดสินใจได้เร็วขึ้น เพราะข้อมูลจากแอปหรือโดรนสามารถซิงค์กับแพลตฟอร์ม GIS ได้ในแบบเรียลไทม์ จึงช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นแผนที่เพื่อช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับขยะภายหลังที่ระบุประเภทและทำการแยกแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบ Operational intelligence ที่มีแผนที่อัจฉริยะไม่ได้จำกัดความสามารถอยู่เพียงในไซต์งานเท่านั้น เพราะสามารถตอบคำถามได้ไกลยิ่งกว่า เช่น สถานที่ที่สามารถจัดการขยะที่ใกล้ที่สุดอยู่ไหน หรือบริเวณรอบ ๆ ไซต์ก่อสร้างสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้ไปสร้างประโยชน์อื่น ๆ ได้หรือไม่ นอกจากนั้น การมองเห็นภาพรวมผ่าน Dashboard เดียวกันทั้งองค์กรยังช่วยให้หัวหน้างานดูข้อมูลสถิติล่าสุดในไซต์งาน เพื่อค้นหาแพทเทิร์นของการเกิดขยะและทิ้งขยะตลอดทั่วองค์กร พร้อมออกรายงานสำหรับบอร์ดผู้บริหารรับทราบผ่าน Dashboard เดียวกันนี้

เมื่อพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน เรามักดูโครงการเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น เช่น อาคารสูงที่ประหยัดพลังงาน ที่อยู่อาศัยที่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ และห้างสรรพสินค้าที่ผสานพื้นที่สีเขียว แต่แท้จริงความยั่งยืนไม่ได้ดูผลลัพธ์ท้ายสุดเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการปฏิบัติตลอดกระบวนการอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยี GIS และเทคโนโลยี Geospatial ต่าง ๆ มาใช้จึงช่วยสร้างระบบอัจฉริยะให้กับองค์กรและช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ว่าจะมีแนวทางด้านความยั่งยืนนำไปปฏิบัติได้ตลอดวงจรชีวิตของโครงการ ทั้งองค์กรที่นำระบบ Operational intelligence ที่ผสานเทคโนโลยีด้านโลเคชันมาใช้ในการก่อสร้าง ย่อมมีแนวโน้มที่จะเลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีหนทางใหม่ ๆ ในการนำขยะไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ และสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 


 

ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม