ประกันภัยยุคใหม่ รับมือภัยพิบัติ วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศด้วยเทคโนโลยี GIS

 

เมื่อภัยธรรมชาติถาโถม ทั้งต้นทุนการแทนที่ทรัพย์สินพุ่งสูงขึ้น บริษัทประกันภัยจึงจำเป็นต้องเลือกระหว่างถอนตัวออกจากพื้นที่เสี่ยงบางแห่ง หรือปรับการมองเห็นความเสี่ยงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อุตสาหกรรมประกันภัยกลายเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) เมื่อปลายปี 2023 บุคคลสำคัญระดับโลกและผู้นำธุรกิจต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเข้าถึงการคุ้มครองความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ทั้งเตือนว่าการขาดประกันภัยสำหรับบุคคลหรือธุรกิจอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและสายงานธุรกิจ และท้ายที่สุดจะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

เหตุการณ์ที่ผ่านมายิ่งตอกย้ำปัญหาดังกล่าว จากข้อมูลของรอยเตอร์สเผยว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความสูญเสียจากภัยธรรมชาติที่ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยมีค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2023 ตัวเลขนี้กลับพุ่งสูงขึ้นถึง 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลของบริษัทประกันภัย Munich Re ในขณะที่บริษัทประกันภัย Aon ประเมินความสูญเสียที่เกิดจากภัยธรรมชาติในปี 2022 ว่ามีมูลค่าสูงยิ่งกว่าที่ 132,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ตัวเลขนี้เป็นเพียง 42% ของความเสียหายทั้งหมดเท่านั้น นั่นหมายความว่าความเสียหายอีกมากที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัย ซึ่งบริษัท Aon เห็นว่าเป็นอัตราความคุ้มครองที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา ดังนั้น บริษัทประกันภัยที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่และคำนวณเบี้ยประกันภัย จึงจำเป็นต้องปรับการมองเห็นข้อมูลความเสี่ยงให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อกำหนดเบี้ยประกันให้เหมาะสมกับภูมิภาคที่เผชิญภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนรุนแรงในยุโรป ไปจนกระทั่งไฟป่าที่เผาผลาญทรัพย์สินในอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ดี ในการรับมือปัญหาเร่งด่วนและซับซ้อนนี้ บริษัทประกันภัยมีเทคโนโลยีด้านโลเคชันเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว นั่นคือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายภายในอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อสร้างแผนที่ดิจิทัล และประเมินสภาพทรัพย์สิน เทคโนโลยีนี้นับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งสำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

 

บริษัทประกันภัยและอนาคตที่ขึ้นอยู่กับอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างปัญหาให้กับบริษัทที่โมเดลธุรกิจอิงกับการกำหนดราคาจากการคุ้มครองความเสี่ยง เพราะเบี้ยประกันภัยที่สูงจนซื้อไม่ไหว หรือไม่คุ้มค่าย่อมไม่ยั่งยืนสำหรับลูกค้าและเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทประกันภัยก็ไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากความเสี่ยงใหม่ ๆ หรือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากไม่ทำการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใด ๆ ตัวอย่างเช่น บริษัทประกันภัยในรัฐฟลอริดาใช้วิธีขึ้นเบี้ยประกันภัยอาคารพาณิชย์เพื่อชดเชยเงินค่าสินไหมทดแทนในกรณีเกิดน้ำท่วมและพายุ แต่ผลที่ตามมาของการขึ้นเบี้ยประกันภัยส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ กล่าวคือ เจ้าของอาคารจำเป็นต้องขึ้นค่าเช่าของร้านค้าปลีก ทำให้ร้านค้าเดิมต้องย้ายออก แต่ร้านค้าใหม่ก็เปิดได้ยาก หรือต้องเพิ่มราคาสินค้าขายผู้บริโภคให้สูงยิ่งขึ้น

สถานการณ์ที่คล้าย ๆ กันนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในกัมพูชา เกษตรกรมีบทบาทสำคัญในการสร้าง GDP ของประเทศถึง 35% พวกเขามีประกันพืชผลคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมและภัยแล้งที่เลวร้ายลง แต่บริษัทประกันภัยภายในประเทศยังมีจำนวนน้อย และค่าเบี้ยประกันภัยก็สูงเกินไปสำหรับเกษตรกรรายย่อย ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลักที่สำคัญและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันเกิดความสั่นคลอน ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันภัยจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อปรับเบี้ยประกันภัยและออกแบบความคุ้มครองให้เหมาะสมกับตลาดไฮเปอร์โลคอล และผู้เอาประกันภัยแต่ละราย โดยพิจารณาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ และทั้งหมดนี้เป็นไปได้ด้วยการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองด้วยเทคโนโลยี GIS

 

รู้ความเสี่ยงให้ชัด

ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศ เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบันหาได้ง่ายขึ้นจากแหล่งข้อมูลสาธารณะและหน่วยงานต่าง ๆ จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยี GIS ทำการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์โดยจำลองข้อมูลสภาพอากาศตามพื้นที่และเวลา เพื่อคาดการณ์ความน่าจะเป็นของผลกระทบในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อภัยพิบัติมาเยือน

ในขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัยชั้นนำจะทำการรวมข้อมูลสภาพอากาศเข้ากับข้อมูลทรัพย์สินเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยง เช่น การเปรียบเทียบอายุและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างกับประเภทของความเสียหายจากพายุที่อาจเกิดขึ้น หรือการประเมินการใช้น้ำประจำปีเพื่อเปรียบเทียบกับแบบจำลองคลื่นความร้อนและภัยแล้ง เป็นต้น จากนั้นบริษัทประกันภัยจะนำรายละเอียดของข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการวิเคราะห์แบบไฮเปอร์โลคอลที่สามารถสร้างคะแนนความเสี่ยงรายบุคคล ทำให้สามารถกำหนดความคุ้มครองและราคาเบี้ยประกันที่เหมาะสมสำหรับแต่ละธุรกิจและทรัพย์สิน การวิเคราะห์แบบไฮเปอร์โลคอลยังสร้างความโปร่งใส ช่วยให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสม จึงช่วยให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยลดลง และอาจลดเบี้ยประกันภัยได้ และท้ายที่สุดการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเสียหายแบบเฉพาะพื้นที่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี GIS ติดตามเหตุการณ์แทบเกือบเรียลไทม์ ยังช่วยให้บริษัทประกันภัยดำเนินการเคลมสินไหมได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

วางแผนเฉพาะพื้นที่รับมือความท้าทายระดับโลก

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อโลกอย่างมาก แต่ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลรุนแรงเท่ากันทุกพื้นที่ บริษัทประกันภัยจึงนำการวิเคราะห์แบบไฮเปอร์โลคอลมาใช้ในการวางแผนและกำหนดเบี้ยประกัน โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงว่าสภาพอากาศประเภทใดบ้างที่อาจเกิดขึ้น ในบริเวณใด และทรัพย์สินของลูกค้าจะได้รับผลกระทบอย่างไรหากเกิดภัยพิบัติ

ในระหว่างการบรรยายสำคัญที่การประชุม COP28 นั้น David Howden ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Howden Group ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ภาครัฐและบริษัทประกันภัยต้องทำงานร่วมกันเพื่อจำลองความเสี่ยง คำนวณค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองสถานที่ที่เปราะบางที่สุด และทำให้ผู้คนเข้าถึงประกันได้ในราคาที่เอื้อมถึง การนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ในการวิเคราะห์และแปลความข้อมูลในระดับไฮเปอร์โลคอล ช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถตัดสินใจได้แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองลูกค้า ยืดอายุธุรกิจ และเสริมสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง

 

 


ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม