นักศึกษามหาวิทยาลัยแมริแลนด์ในปรินซ์จอร์จเคาน์ตี ใช้เครื่องมือ Web App พัฒนาเว็บไซต์แบบ Interactive เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ที่ขี่จักรยาน

สำนักการวางแผนและโครงการลงทุนของกรมขนส่งแมริแลนด์ (Maryland Department of Transportation: MDOT) พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภูมิภาค ท้องถิ่น และประชาชน ทำหน้าที่ร่วมกันวางแผน ริเริ่มโครงการ และพัฒนาระบบการขนส่งที่มีความสมดุล เช่น แก้ปัญหารถจักรยานและคนเดินเท้าให้สามารถเข้าถึงการใช้ถนน เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของ MDOT คือการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ผ่านการตรวจสอบระดับความกดดันทางจราจร (Level of Traffic Stress: LTS) บนท้องถนนทั่วทั้งรัฐ โดยคะแนน LTS ของช่วงถนน (Segment) และการข้ามถนน (Crossing) บ่งบอกความกดดันทางจราจรที่มีต่อผู้ขี่จักรยาน

นายเนท อีวานส์ นักวางแผนการขนส่งของหน่วยงาน MDOT ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของรัฐไม่ได้คิดถึงทักษะการขี่จักรยานที่แตกต่างกัน ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากโครงการ LTS จะช่วยชี้แนะหน่วยงานในการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนได้มากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มทางเดินที่ใช้ร่วมกับจักรยาน หรือเพิ่มทางจักรยานที่มีสิ่งป้องกัน เป็นต้น

นายแอนดรูว์ เบอร์นิช นักวางแผนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) บริษัทที่ปรึกษา KFH Group ผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงาน MDOT มีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีบางเคาน์ตีเท่านั้นที่มีข้อมูลเป็นของตนเอง ดังนั้น MDOT จึงจำเป็นต้องจัดทำชุดข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้ครอบคลุมทั่วทั้งรัฐด้วยการคำนวณคะแนน LTS ในแต่ละช่วงถนน

แอปพลิเคชันแสดงระดับ LTS ของจักรยานในปรินซ์จอร์จเคาน์ตี รวมโครงสร้างพื้นฐานทางจักรยานที่มีอยู่แล้ว

ความร่วมมือภายใต้โครงการ PALS

ความร่วมมือภายใต้โครงการ PALS (Partnership for Action Learning in Sustainability) เริ่มต้นขึ้นเมื่อหน่วยงาน Parks and Recreation Department ของปรินซ์จอร์จเคาน์ตีได้ร้องขอทางมหาวิทยาลัยให้ช่วยสร้างแผนที่ Bike stress map ซึ่งในขณะนั้นเบอร์นิชกำลังสอนภาควิชา Recent Development in Urban Studies: Intermediate Geographic Information Systems จึงเล็งเห็นโอกาสที่นักศึกษาของเขาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง

โครงการ PALS เป็นโครงการระดับมหาวิทยาลัยที่ออกแบบมาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพในต้นทุนที่ต่ำ และให้โอกาสนักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านโลกจริงไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งขณะนั้น คิมเบอร์ลี ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการโครงการ PALS ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาเบอร์นิช และเบอร์นิชเห็นว่าโครงการแผนที่ Stress map เหมาะสำหรับนักศึกษาของเขาอย่างยิ่งเพราะมีชุดข้อมูลเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งเคาน์ตีเองก็อยากให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้เห็นโครงข่ายจักรยานภายในเคาน์ตีทั้งหมด และฟิชเชอร์เองก็เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนนได้มากยิ่งขึ้น

 

สร้างเว็บไซต์ง่ายยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้เบอร์นิชเคยใช้ Web application builder ของบริษัทอื่น แต่ครั้งนี้เขาเลือกใช้โปรแกรม ArcGIS Experience Builder ในการสร้างแผนที่ Bike stress map เพราะใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน มีกราฟฟิกที่สวยงาม สมจริง และสามารถสร้างประสบการณ์ Interactive ได้มากกว่า ทั้งผู้ใช้งานยังสามารถผสมผสานแผนที่และข้อมูลผ่านเลย์เอาต์ที่ปรับเปลี่ยนได้ พร้อมเพิ่มความสะดวกด้วย Widget แบบ drag-and-drop

เบอร์นิชเห็นว่า Experience Builder ใช้ JavaScript เวอร์ชันอัพเดทและใช้งานง่าย ทั้งยังปรับใช้กับ Mobile application ได้ง่ายกว่า และเนื่องจากตนเคยใช้มาก่อนจึงรู้ดีว่ามันจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาอย่างมาก เพราะพวกเขาสามารถเพิ่ม Widget และฟีเจอร์ได้หลากหลายตามต้องการ

แผนที่ปรินซ์จอร์จเคาน์ตีแสดงพื้นที่การจราจรทางรถยนต์ที่คับคั่ง ซึ่งมีระดับ LTS 4 (เส้นสีแดง) แตกต่างจากพื้นที่ชานเมืองที่มีความกดดันทางจราจรต่ำ และเส้นทางจักรยานที่แยกจากถนนซึ่งตัดผ่านสวนสาธารณะ (เส้นสีเขียว 2 เฉด แสดงระดับ LTS 1 และ 0)

นายเจฟ เดลโมนิโก ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนชุมชนจากสำนักวางผังและแบ่งเขตของโฮเวิร์ดเคาน์ตี ผู้เคยเรียนภาควิชานี้มีความเห็นว่าเป็นวิชาที่มีหัวข้อครอบคลุมรอบด้าน ตั้งแต่การออกแบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ การพัฒนา Web map ผ่าน ArcGIS Online การเขียนสคริปท์ภาษา Python ไปจนกระทั่งบทเรียนการใช้ ArcGIS Pro เพื่อสร้างแอปพลิเคชันจนแล้วเสร็จ

นอกเหนือจากการพัฒนาแอปพลิเคชันแล้ว อีกส่วนที่สำคัญของโครงการคือการกำหนดว่าอะไรที่ควรจะแสดงในแผนที่ LTS บ้าง ซึ่งนักศึกษาในชั้นเรียนได้ตัดสินใจเลือกอธิบาย LTS ในระดับต่าง ๆ ผ่านภาพและคำอธิบายสั้น ๆ และยังมีไอเดียใส่ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ขี่จักรยาน เช่น นอกจากจะแสดงเส้นทางจักรยานหรือถนนแล้ว ก็ควรมีการแสดงสถานที่ปลายทางที่ไปบ่อยด้วย เช่น สวนสาธารณะและโรงเรียน หรือสถานที่ให้บริการจักรยานสาธารณะ (Bike-share) เป็นต้น สำหรับเดลโมนิโก เขาเห็นว่าประสบการณ์ที่ได้ทำโครงการนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่า GIS มีประโยชน์อย่างไรในการวางแผนในสถานการณ์จริง

 

ผลลัพธ์

เว็บไซต์และแผนที่ Bike stress map ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อพฤษภาคม พ.ศ. 2565 และมีการเข้าชมมากถึง 2,000 กว่าครั้ง เบอร์นิชอธิบายว่าเว็บไซต์นี้เป็นแอปพลิเคชันที่เน้นแผนที่เป็นหลัก ทำให้นักศึกษาสามารถแสดงข้อมูลที่ได้จากทางภาครัฐจำนวนมหาศาลได้ง่ายในเว็บไซต์เดียว และทำการอัพเดทข้อมูลได้อย่างราบรื่น ทั้งการใช้โปรแกรม Experience Builder ยังช่วยให้พวกเขาปรับแต่งเว็บไซต์ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรูปภาพ หรือเพิ่มฟีเจอร์ เช่น ปุ่มดาวน์โหลดข้อมูล ทั้งผู้ใช้ภายนอกเองก็สามารถแชร์ลิงค์ของเว็บไซต์ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ภายในแผนที่มีการแสดงระดับความกดดันทางจราจร (LTS) ครอบคลุมทั่วทั้งปรินซ์จอร์จเคาน์ตี โดยผู้ใช้สามารถค้นหาที่อยู่หรือชื่อเส้นทางจักรยานได้ง่าย ๆ ทั้งยังมีการแสดงเส้นทางจักรยานที่แยกออกจากถนนเพื่อให้ผู้ขี่จักรยานได้ใช้เส้นทางนั้นโดยเฉพาะ พร้อมทั้งแสดงเส้นทางอื่น ๆ เช่น เส้นทางรถไฟเก่าที่ถูกเปลี่ยนเป็นเส้นทางเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นอีกด้วย

เบอร์นิชกล่าวว่า “ผมตั้งใจที่จะทำแอปพลิเคชันที่แม้แต่ผู้ไม่มีความรู้ด้าน GIS ก็ใช้งานได้เพื่อให้มีคนใช้งานมากขึ้น ผมชอบที่เราสามารถเปิดหรือปิดเลเยอร์ต่าง ๆ ได้ และนักศึกษาเองก็ชอบการใช้งานที่ง่ายนี้ด้วยเช่นกัน”

เดลโมนิโกกล่าวเสริมว่า การใส่ Widget ที่กำหนดเองได้ลงในเว็บไซต์ทำให้นักศึกษาอธิบาย LTS ในแต่ละระดับในรูปแบบที่น่าดูยิ่งขึ้น โดยพวกเขาเลือกใช้ Bookmark widget ที่สามารถคลิกเปิดหรือปิดแต่ละเลเยอร์เพื่อดูคะแนน LTS ได้ ทั้งยังใส่ปุ่มต่าง ๆ ลงไปในแอปแผนที่เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมตามที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งอีวานซ์กล่าวว่า หากคะแนน LTS (จากระดับ 0-5) มีตัวเลขต่ำเท่าไหร่ ยิ่งหมายความว่าสภาพการขี่จักรยานดีขึ้นเท่านั้น

หน้า Home ในแอปพลิเคชัน Level of Bicycle Traffic Stress ของเคานตีปรินซ์จอร์จ ผู้ใช้สามารถดูถนนและเส้นทางต่าง ๆ สำหรับการขี่จักรยาน พร้อมสัญลักษณ์ความกดดันทางการจราจรในระดับที่แตกต่างกัน

“ตลอดการพัฒนาที่ผ่านมาพบว่า Experience Builder เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและใช้งานง่าย ตัวอย่างเช่น การสร้างหน้าจอ Splash screen ที่แสดงภาพรวมของแอปใช้เวลาในการดีไซน์เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ทั้งการสร้าง Widget ก็เป็นเรื่องง่ายและไม่ซับซ้อน ผมพอใจกับการใช้ Experience Builder เป็นอย่างมาก” เดลโมนิโกสรุปความเห็น

นอกจากนั้น กลุ่มนักศึกษายังใช้ ArcGIS StoryMaps ในการสร้างเว็บไซต์ที่มีเรื่องราวเบื้องหลังของกรรมวิธีการวิเคราะห์ LTS ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถรวมแผนที่เข้ากับข้อความ รูปภาพ และมัลติมีเดีย และเนื่องจากเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบพื้นฐานของการวางแผนชุมชน เดลโมนิโกจึงนำไปเสนอทีมงานของเขาเพื่อสานต่อโครงการต่อไป

ฟิชเชอร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “นักศึกษาที่นี่ไม่เพียงได้ฝึกฝนทักษะการใช้ GIS บนแผนที่เท่านั้น แต่พวกเขายังได้มีโอกาสส่งต่อข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจและบุคคลทั่วไป จึงกล่าวได้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และโครงการที่สองซึ่งใช้โครงข่ายเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่ก็กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้”

 

 


 

ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม