เข้าใจบริบทเชิงพื้นที่อย่างรอบด้าน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาอาคารได้ดียิ่งขึ้น

 

ทราบหรือไม่ว่า Digital twin ที่ใช้สำหรับการปฏิบัติการนั้นมีความละเอียดมาก และได้กลายเป็นระบบพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับบันทึกข้อมูลทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้มาจากการผสมผสานข้อมูลระหว่างระบบ GIS, BIM และภาพถ่าย และสามารถเพิ่มข้อมูลรายละเอียดของวัตถุต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาภายหลังได้

ตัวอย่างของข้อมูลเพิ่มเติมที่ถูกเพิ่มเข้าไป เช่น ข้อมูลด้านทรัพย์สินที่มีการเคลื่อนที่ (Moving assets) เพื่อนำมาใช้จัดการการขนส่ง ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตามและรู้ตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดของอุปกรณ์เมื่อต้องการใช้งาน หรือการเพิ่มข้อมูลวัสดุที่ต้องซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนอยู่เสมอ เช่น เครื่องสูบน้ำ หรือหลอดไฟ เป็นต้น การเก็บข้อมูลประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ Digital twin กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่องค์กรให้ความเชื่อถืออย่างมาก และองค์กรยังได้ประโยชน์จากการนำข้อมูลที่เก็บไว้จำนวนมหาศาลไปใช้งานได้จริงอีกด้วย ในกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการเกษียณอายุ องค์ความรู้ของพวกเขาจะไม่สูญหายไปไหน เพราะ Digital twin คอยทำการเก็บการสำรองข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ ของพวกเขาไว้อยู่เสมอ

ในส่วนของฝ่ายซ่อมบำรุงเองก็สามารถใช้ Digital twin เพื่อวางแผนการซ่อมแซมและวางแผนอัพเกรดอุปกรณ์ โดยผู้ใช้สามารถดูข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของอุปกรณ์ เช่น ถ้าเป็นเครื่องสูบน้ำ ก็สามารถรู้ชื่อผู้ผลิต หมายเลขโมเดล วันที่ติดตั้ง วิธีการซ่อมบำรุง บันทึกการทำงาน และตำแหน่งของเครื่องสูบน้ำชนิดเดียวกันในจุดอื่น ๆ นอกจากนั้น ความสามารถของ Digital twin ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแนะนำการทำงานแต่ละขั้นตอนให้กับคนงาน ทั้งยังผสานโลกจริงผ่านการทำงานร่วมกับระบบอื่น เช่น การมอนิเตอร์การใช้งานจริงของพลังงานและน้ำ

พนักงานฝ่ายบำรุงรักษาอาคารต่างเห็นว่าความสามารถในการผสานระบบ Digital twin เข้ากับโลกจริงได้นั้น ทำให้พวกเขาวางแผนการทำงานแต่ละวันได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนฟิลเตอร์ระบบปรับสภาวะอากาศในอาคาร (HVAC) พวกเขาสามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อตรวจเช็คว่าต้องการฟิลเตอร์จำนวนเท่าไหร่ มีสต็อคเพียงพอไหม และต้องจัดส่งอะไหล่ด้วยวิธีใด ในขณะที่ทีมงานซ่อมบำรุงก็เห็นว่ามีประโยชน์เช่นกัน โดยพวกเขาสามารถแยกวาล์วหรือสวิตช์ได้ก่อนในระบบดิจิทัล แล้วจึงเดินเข้าไปในสถานที่จริง นอกจากนั้น Digital twin ยังถูกใช้ในการวิเคราะห์ด้านพื้นที่และเวลาเพื่อตอบคำถามและทำนายเหตุการณ์ในอนาคต และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทโครงสร้างพื้นฐานด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า ทั้งยังหาวิธีเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ ได้อีกด้วย

 

ตัวอย่าง Case Study 

ภูมิภาคไทด์วอเตอร์ รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำกำลังเผชิญปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบำบัดน้ำเสียในภูมิภาคนั้นคือ Hampton Roads Sanitation District (HRSD) ซึ่งให้บริการประชาชนกว่า 1.7 ล้านคนครอบคลุม 20 เมือง นอกเหนือจากปัญหาระดับน้ำทะเล HRSD ยังต้องเจอปัญหาการสูบน้ำบาดาลอันส่งผลให้แผ่นดินทรุดตัว ซึ่งพวกเขาจัดการแก้ปัญหานี้ด้วยการสูบน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับลงใต้ดินเพื่อป้องกันการทรุดตัว

ความท้าทาย:

HRSD จำเป็นต้องหาวิธีมอนิเตอร์การบำบัดน้ำ และสังเกตผลกระทบจากการเติมน้ำกลับใต้ดิน หากโครงการนี้สำเร็จจะมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาน้ำฝนไหลนอง และป้องกันปัญหาการรุกล้ำของน้ำทะเล ซึ่งทาง HRSD ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลจริง

โซลูชัน:

ทางหน่วยงาน HRSD ได้ผสมผสานระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนสร้างโมเดลปฏิบัติการที่มีความละเอียดสูง จากการผสมผสานทั้งกระบวนการทำงาน การวิเคราะห์ การออกแบบด้วยระบบ BIM และแผนที่ด้วยระบบ GIS โมเดลปฏิบัติการนี้สามารถทำงานที่มีความซับซ้อนขั้นสูง โดยเข้าใจการออกแบบทั้งหมดตั้งแต่แปลนที่เขียนก่อนการก่อสร้าง และแปลนที่เขียนหลังการก่อสร้าง ทั้งยังสามารถติดตามการทำงานแบบเรียลไทม์ของสถานที่เมื่อเริ่มดำเนินการได้

ผลลัพธ์:

ผู้จัดการฝ่ายบำรุงรักษาอาคารและทีมงานก่อสร้างสามารถเข้าสู่โมเดลนี้ด้วยการใส่ VR headset เพื่อเห็นตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ว่าควรอยู่ตำแหน่งใด รวมทั้งเรียนรู้ว่าควรบำรุงรักษาสิ่งเหล่านั้นอย่างไร นอกจากนั้น Digital twin ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ดีเยี่ยมสำหรับการอบรมพนักงานใหม่ หน่วยงาน HRSD ยังสามารถนำข้อมูลที่เก็บไว้ตลอด 20 ปีมาวิเคราะห์จุดเสี่ยงที่มักเกิดปัญหา และทำความเข้าใจสาเหตุและหาทางแก้ไข พร้อมกับนำวิธีการแก้ปัญหานี้ไปใช้ในจุดอื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน

“เมื่อเราสามารถรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในระบบของเราแล้ว วันนี้เราอยากทำมากขึ้นไปอีกด้วยการจำลองระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดูว่ามันมีพฤติกรรมอย่างไร เช่น ถ้าเราเปิดวาล์วหนึ่งตัวและเปลี่ยนกระบวนการทำงานสักหนึ่งอย่าง จะเกิดผลกระทบอะไรต่อกระบวนการอื่น ๆ บ้าง”

– Anas Malkawi ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินทรัพย์ของหน่วยงาน HRSD กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 


 

ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม