Location Intelligence ตอบโจทย์ความท้าทายอุตสาหกรรมก่อสร้างยุคใหม่

 

ในปี 2021 อุตสาหกรรมก่อสร้างมีมูลค่าสูงถึง 7.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โลก นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากภาครัฐของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับโลก รวมทั้งความต้องการบ้านและโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมเพิ่มการจ้างงานจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับการเติบโตนี้ แต่ถ้าหากคุณได้เข้าไปในไซต์ก่อสร้าง อาจจะต้องประหลาดใจเมื่อพบว่าการทำงานต่าง ๆ ยังคงเป็นแบบอนาล็อกเหมือนเดิม เช่น ผู้จัดการไซต์ก่อสร้างยังคงใช้กระดาษพิมพ์เขียวจึงไม่สามารถดูความคืบหน้าของโครงการได้แบบเรียลไทม์ หรือทีมงานที่ยังคงแชร์ไฟล์ผ่านอีเมล์เฉพาะกิจอยู่เช่นเคย

การที่อุตสาหกรรมก่อสร้างทำกำไรได้ยากทั้งยังมีการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้บริษัทก่อสร้างต่าง ๆ จำเป็นต้องระมัดระวังการหานวัตกรรมใหม่มาใช้ที่อาจเกิดผลกระทบในระยะสั้น และนี่เองส่งผลให้อุตสาหกรรมไม่เติบโตมากนัก แต่เดี๋ยวนี้บริษัทระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมมีทีท่าเปลี่ยนไป พวกเขาเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำระบบอัตโนมัติและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการก่อสร้าง

เป็นที่ทราบกันดีว่า Digital transformation มีประโยชน์อย่างมาก บริษัทก่อสร้างระดับแนวหน้าจำนวนมากจึงหันมาใช้เทคโนโลยี GIS ในการจัดการเรื่องซับซ้อนต่าง ๆ ในการก่อสร้างยุคใหม่ เช่น การใช้ Smart map และ Real-time dashboard เพื่อให้บริษัทได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึก และได้เห็นภาพสามมิติแบบ Digital twin ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนทำให้การก่อสร้างในอนาคตเร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น และคุ้มค่ามากขึ้น

 

เพราะทุกสิ่งคือพื้นที่

GIS คือเทคโนโลยีที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไซต์ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง คนงาน และความคืบหน้าของโครงการ ตั้งแต่การเลือกไซต์เบื้องต้นไปจนกระทั่งการซ่อมบำรุง เมื่อบริษัทก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ระดับโลกแห่งหนึ่งนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ จะช่วยทำให้ประหยัดเวลาได้มากขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว นอกจากนี้ 3D Digital Twin หรือเทคโนโลยีการสร้างโลกเสมือนจริงในแบบ Real-time มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้าง สามารถแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ เช่น ผู้จัดการโครงการอาจใช้ Dashboard ที่แสดงห่วงโซ่อุปทานรอบไซต์ก่อสร้างเพื่อทำการเลือกผู้ผลิตและวางแผนการส่งวัสดุก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

เทคโนโลยีด้านโลเคชันยังเปลี่ยนวีธีการแชร์ข้อมูลด้านการก่อสร้างโดยช่วยให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ผู้จัดการโครงการ ลูกค้า และทีมงานสามารถเห็นความคืบหน้าของโครงการที่อัพเดทแบบ Real-time ด้วยภาพที่มีรายละเอียดคมชัดผ่านเทคโนโลยี GIS ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น ไฟล์ด้าน BIM ภาพถ่ายทางอากาศ และเซนเซอร์ IoT เป็นต้น เรียกได้ว่า Location intelligence ช่วยให้ทุกระยะของห่วงโซ่คุณค่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นและค้นพบข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ มากขึ้น

 

ระยะวางแผน: ออกแบบ ประสานงาน งบประมาณ และกระบวนการทำงาน

ในระยะวางแผนการก่อสร้าง เทคโนโลยี GIS ช่วยผู้จัดการโครงการเลือกไซต์งานที่เหมาะสม พยากรณ์ความเสี่ยง รับรองการปฏิบัติงานให้ตรงตามข้อบังคับ ไปจนกระทั่งการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในช่วงการเลือกไซต์ก่อสร้างนั้น นักวางแผนอาจใช้แผนที่ดิจิทัลเพื่อดูข้อจำกัดทางกฎหมาย ระยะทางถึงทรัพยากรต่าง ๆ ความสะดวกในการเข้าถึง และพื้นที่อ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังปฏิเสธพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมได้

อาจกล่าวได้ว่า Digital twin เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่งสำหรับการวางแผนตามสถานการณ์ต่าง ๆ โดยบริษัทสามารถจำลองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความสูงของระดับน้ำทะเล หรือไฟป่า และสามารถรู้ว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารอย่างไร โดยมีองค์กรจัดการโครงการก่อสร้างชั้นนำของโลกแห่งหนึ่งได้นำ Digital twin ไปใช้ในการออกแบบอาคารเทียบเครื่องบินใหม่เพื่อมองเห็นความสัมพันธ์ของสาธารณูปโภคใต้พื้นดิน ทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเรื่องการออกแบบได้ง่ายขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขแบบได้อย่างมหาศาล

Data visualization ยังช่วยให้ผู้จัดการคาดการณ์การปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการได้ ตัวอย่างหนึ่งคือบริษัทที่ดูแลระบบรถไฟความเร็วสูงในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อมอนิเตอร์ที่ดินมากกว่า 10,000 แปลงที่อาจได้รับผลกระทบจากทางรถไฟ และด้วยเทคโนโลยีที่สามารถจัดการข้อมูลนี้ทำให้นักวางแผนสามารถตามติดแต่ละไซต์งานให้ปฏิบัติงานตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องยืนยันว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ตั้งใจไว้นั่นคือปกป้องธรรมชาติและสัตว์ที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้น

ปัจจุบันผู้บริหารในหลากหลายอุตสาหกรรมเริ่มเห็นคุณค่าของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน เช่น การสร้างความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และหลายบริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างก็ได้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้แอปพลิเคชัน GIS ที่ติดตามคาร์บอนฟุตปรินต์ของวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ซีเมนต์ และไม้แปรรูป ทำให้พวกเขาหาวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มลงฐานรากเลยด้วยซ้ำ

 

ระยะก่อสร้าง: จัดการการทำงาน

เมื่อการก่อสร้างเริ่มต้น ผู้จัดการโครงการจำเป็นต้องเห็นภาพการทำงานทั้งหมดบนหน้าจอเดียวเพื่อรับรู้ตลอดกระบวนการตั้งแต่การจัดหาวัสดุก่อสร้างไปจนกระทั่งความปลอดภัยต่าง ๆ ซึ่งแพลตฟอร์มที่ถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุดในการให้ข้อมูลที่อัพเดทอยู่เสมอกับทีมงานทั้งนักวางแผน ดีไซน์เนอร์ วิศวกร และผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ นั่นก็คือ Smart map ที่แสดงภาพไซต์งานในรูปแบบ Digital Twin ที่เพียบพร้อมไปด้วยตารางการทำงานและงบประมาณล่าสุด

การผสานโดรนและเทคโนโลยี GIS เข้าด้วยกันยังทำให้การมอนิเตอร์ไซต์ก่อสร้างทำได้ดีเหลือเชื่อ เพราะโดรนสามารถจับภาพและวิดีโอการทำงานของไซต์ก่อสร้างอย่างต่อเนื่องผ่านมุมมอง Top-down view หากมีปัญหาใด ๆ ผู้จัดการและสถาปนิกก็สามารถย้อนกลับไปดูขั้นตอนการก่อสร้างก่อนหน้า เพื่อทราบถึงปัญหาและร่วมกันแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม การนำภาพถ่ายจากโดรนมารวมเข้ากับเทคโนโลยี GIS ยิ่งทำให้ Digital twin มีพฤติกรรมเหมือนระบบของโลกจริงมากยิ่งขึ้น และสิ่งนี้ช่วยผู้จัดการของโครงการแห่งหนึ่งอย่างมาก เพราะการแชร์กำหนดการทำงานและภาพถ่ายจากโดรนให้กับทีมงานและสาธารณชน ทำให้พวกเขาเกิดความเชื่อมั่นและดึงพวกเขาให้มีส่วนร่วมตลอดการก่อสร้างได้

นอกจากนั้น เทคโนโลยีเชิงพื้นที่ยังสามารถจับภาพที่มีความรายละเอียดสูงจึงช่วยให้การทำงานปลอดภัยมากขึ้น บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งใช้โดรนและเทคโนโลยี GIS ในการนับจำนวนวัสดุในคลังแทนการใช้คนงานเข้าไปนับจำนวนด้วยตนเอง จึงตัด “ความเสี่ยงในการทำงาน” ไปได้มากถึง 800 วัน และประหยัดเงินได้มากถึง 30,000 ปอนด์ต่อปี และ Digital twin ที่มีเซนเซอร์แบบ Real-time ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยไปอีกขั้น เช่น ในขณะมีการทำงานบนสะพานเซนเซอร์สามารถแจ้งเตือนหากมีแรงสั่นสะเทือนเกินเกณฑ์ความปลอดภัย และบอกตำแหน่งที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ

ในอดีตการส่งข้อมูลจากไซต์ก่อสร้างไปยังนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการในสำนักงานมักใช้เวลาหลายวัน และมักอยู่ในรูปแบบกระดาษที่บันทึกด้วยลายมือ และกว่าจะมาถึงปลายทางข้อมูลก็เก่าไปเสียแล้ว แต่ปัจจุบันการใช้แอปพลิเคชัน GIS ช่วยให้ทีมงานหลากหลายฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันทีผ่านมือถือ เช่น รายงานประจำวัน การตรวจสอบคุณภาพ และรายงานเหตุการณ์ความปลอดภัย

Location intelligence ยังช่วยให้ผู้จัดการผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับโครงการได้ โดยเฉพาะแนวคิด “Circular construction” ที่เน้นการลดขยะด้วยการนำวัสดุมาใช้ใหม่หรือนำมารีไซเคิลกำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ และการใช้เทคโนโลยี GIS จะช่วยผู้จัดการติดตามแหล่งที่มาของขยะและสถานที่กำจัดขยะ ทำให้การจัดการห่วงโซอุปทานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังลดการไปบ่อขยะได้อีกด้วย

 

 

ระยะหลังก่อสร้าง: การบำรุงรักษา การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการสื่อสาร

แม้การก่อสร้างเสร็จสิ้น แต่ผู้จัดการก่อสร้างยังมีงานสำคัญรออยู่ นั่นคือกระบวนการส่งมอบงานให้กับเจ้าของอาคาร ซึ่งการใช้เทคโนโลยีด้านโลเคชันจะช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของเข้าใจการใช้อาคารอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพราะต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของนั้น กว่า 80-90 เปอร์เซนต์เกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน นอกจากนั้น ผู้ตรวจงานและช่างเทคนิคก็สามารถใช้ Smart map ด้วยเทคโนโลยี GIS และ Digital Twin เพื่อดูตำแหน่งและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องเข้าซ่อมบำรุงได้เอง ทั้งการมีแฟลตฟอร์มส่วนกลางด้านข้อมูลการก่อสร้างที่เข้าถึงง่ายก็ทำให้ผู้ใช้งานค้นหาอุปกรณ์ที่เสียหรือทำงานผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว

การสื่อสารก็มีความสำคัญอย่างมากเมื่ออาคารเริ่มใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานอาคาร เช่น ผู้อยู่อาศัย ผู้สัญจร หรือพนักงาน สามารถรับรู้ข้อมูลได้ง่ายผ่านแผนที่บนเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินเวลาการเข้าซ่อมเครื่องปรับอากาศภายในคอนโดมิเนียม หรือแจ้งการลดลงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการก่อสร้างอาคารสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของโลกเสื่อมถอยลง ปัจจุบันโครงสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น การใช้ Location intelligence จึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลกยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน ทั้งยังทำให้เกิดความปลอดภัย และทำให้เกิดความร่วมมือภายในทีมงานมากขึ้น 

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยี GIS เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มเติม GIS for AEC

 

 


 

ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม